คนอินเดียสมัยโบราณเชื่อว่า เพชรมีพลังอำนาจทำให้ได้รับชัยชนะ และยังใช้เพชรประดับเทวรูปเพื่อสักการะบูชา แม้กระทั่งกษัตริย์ของอินเดียสมัยนั้นก็นิยมใช้เพชรเพื่อป้องกันภัยจากปีศาจร้าย ยามทำศึกสงคราม ในสมัยก่อนมักนิยมสวมใส่เพชร เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ประชาชนในกรีซและโรมันสมัยโบราณมีความเชื่อว่าเพชรสามารถรักษาบาดแผลได้ ในสมัยกลาง (Middle Ages) เชื่อกันว่า เพชรช่วยป้องกันโรคระบาดได้ เพชรมีอำนาจในการป้องกันเจ้าของผู้สวมใส่ให้รอดพ้นจากสิ่งชั่วร้าย ภยันตรายทั้งปวง
จักรพรรดินโปเลียนเชื่อถือในอำนาจลึกลับของเพชร จึงได้นำเพชรไปฝังไว้ในด้ามดาบที่นำไปใช้ในวันราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงประดับเพชรไว้ที่พระอุระ เพื่อป้องกันโรคติดต่อมิให้ย่างกรายมาถึงพระองค์
ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าเพชรสามารถประสานรอยร้าวของคู่สามีภรรยาได้ ตราบถึงปัจจุบันความเชื่อเรื่องนี้ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ ส่วนในหมู่หญิงสาวทั้งหลายต่างก็เชื่อว่าเพชรเป็นสัญลักษณ์ของความรักบริสุทธิ์นิรันดร เพชรได้รับการผูกพันเข้ากับเรื่องความรักเพราะเพชรก็เช่นเดียวกับความรักที่เป็นหนึ่งและล้ำค่า
คำว่า "เพชร" เริ่มปรากฎให้เห็นในหนังสือภาษาสันสกฤตระหว่างศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล สำหรับโลกตะวันตกนั้นคำว่า "Diamond" ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คำว่า "Adamas" หมายความว่า ไม่สามารถเอาชนะได้ เทียบได้กับคำว่า "Diamas" ในภาษาละติน "Vairam" ในภาษาทมิฬ "Vajra", "Hira", "Hirak" ในภาษาสันสกฤต และ "Almas" ในภาษาอารบิก คำเหล่านี้ใช้เรียกโลหะที่มีความแข็งหรือแร่ในสมัยโบราณ
ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า เพชรคือสะเก็ดดาวที่ตกสู่โลกมนุษย์ ประกายสุกใสดุจไฟในเพชร สะท้อนถึงเปลวไฟแห่งความรักที่คุกรุ่นอยู่เสมอ บ้างก็กล่าวว่า เพชรคือหยดน้ำตาของพระเจ้า บางตำนานถึงกับเล่าว่ามีหุบเขาตอนกลางของทวีปเอเชียที่มนุษย์ไม่อาจเข้าไปถึง ที่นั่นเต็มไปด้วยเพชร มีนกและงูร้ายเฝ้าดูแลอยู่