หลักปฏิบัติในการประเมินคุณภาพสีเพชร

 

การประเมินคุณภาพสีเพชรให้ได้ผลที่แม่นยำ จะต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ

ในสถานที่ที่ปราศจากการรบกวนทางแสงสีของวัตถุรอบข้าง

และใช้เพชรสีขาวต้นแบบมาตรฐานที่ผ่านการตรวจสอบ

จากห้องปฎิบัติการวิเคราะห์อัญมณีมาเปรียบเทียบ

ลักษณะเพชรสีต้นแบบ (Color Master Diamond) ที่มีคุณภาพต้องมีคุณลักษณะดังนี้

A. รูปกลม เจียระไนแบบเหลี่ยมเกสร (Round Brilliant Cut)

B. น้ำหนักต่อเม็ดต้องไม่ต่ำกว่า 0.30 กะรัต

C. ต้องไม่มีตำหนิภายในที่มีผลต่อการมองเห็นสีของเพชร เช่น มีตำหนิภายในที่มีสี (แดง, ส้ม, น้ำเงิน ฯลฯ) ไม่ว่าจะเป็นผลึก หรือรอยแตกหรือของเหลวที่อยู่ในเนื้อเพชรที่ทำให้เกิดการสะท้อนของสีตำหนิภายในเนื้อเพชร

D. ต้องไม่มีคุณสมบัติเรืองแสงภายใต้แสงอุลตราไวโอเลต สามารถตรวจสอบด้วยเครื่องวิเคราะห์การเรืองแสง (Fluorescence)

 

แหล่งความสว่าง

            แหล่งความสว่างที่ดีควรใช้แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ชนิด Day Light 99 ซึ่งให้แสงใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด วางไว้เหนือเพชรต้นแบบและเพชรที่จะทำการจัดระดับสี

 

วิธีปฏิบัติในการเทียบสีเพชร

     1. วางเพชรต้นแบบลงบนถาดสีขาว

                ด้วยการคว่ำหน้า โดยจัดเรียงตามลำดับสีจากสี D…E…F…G… เป็นต้น

     2. นำเพชรที่ต้องการประเมินคุณภาพสีมาวาง

                เทียบด้วยการคว่ำหน้าเพชรทางด้านซ้ายของ D แล้วพิจารณาตรงพาวิเลียนว่าสีเท่ากับ D หรือไม่ ถ้ามีสีที่เข้มกว่าก็ให้คีบเพชรมาวางด้านขวาของ D แล้วพิจารณาว่าสีเท่ากับ D หรือไม่ ถ้ามีสีเข้มกว่าก็ให้คีบเพชรมาวางด้านซ้ายของ E แล้วพิจารณาเปรียบเทียบเช่นนี้จนกว่าจะพบระดับสีที่ตรงกัน

     3. ข้อควรระวัง

          A. ก่อนทำการเทียบสีเพชรต้องทำความสะอาดเพชรทุกเม็ดด้วยผ้านุ่ม เพื่อขจัดคราบไขมันที่ติดบนผิวเพชร ซึ่งจะเป็นเหตุให้เพชรดูหมองและอาจทำให้สีดูผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง

          B. ระวังการสลับกับเพชรต้นแบบ ควรทำการชั่งน้ำหนักเพชรทุกเม็ดก่อนนำไปเปรียบเทียบกับเพชรต้นแบบ และควรใช้สมาธิอย่างตั้งใจ ไม่วอกแวกหรือคุยเล่นหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะอาจทำให้เกิดการสับสนในการจัดวางได้

          C. ควรจัดสภาพแวดล้อมให้ปราศจากสีที่จะสะท้อนหรือเกิดการซึมซับสีของสายตาผู้ทำการประเมินคุณภาพ ควรใช้สภาพแวดล้อมที่เป็นสีขาวเป็นหลัก

          D. ก่อนจัดทำควรทำการตรวจสอบเพชรต้นแบบทุกเม็ดอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยน

          E. ผู้ประเมินคุณภาพสีควรเป็นผู้ที่ไม่มีปัญหาในเรื่องตาบอดสีโดยเด็ดขาด

 

การประเมินคุณภาพสีด้วยตนเองอย่างง่าย

            กรณีที่ท่านผู้อ่านจะทำการประเมินคุณภาพสีเพชรด้วยตนเองโดยไม่มีเพชรต้นแบบก็สามารถทำได้ ด้วยการมองเพชรจากทางด้านหน้าและด้านหลัง โดยใช้แหล่งแสงจากหลอดไฟสีขาวแบบฟลูออเรสเซนส์ ผลที่ได้จะเป็นค่าโดยประมาณเท่านั้น และได้ค่าที่เป็นช่วงของสีดังตาราง

 

 

ทิศทางการมองเห็น

ด้านหน้า

ด้านหลัง

ระดับสีที่ได้

ลักษณะสีที่มองเห็น

ไร้สี

ไร้สี

D – E – F

ไร้สี

ติดเหลืองอ่อน ๆ

G – H – I

ติดเหลืองอ่อน ๆ

เหลือง

J – K – L

เหลือง

เหลือง

M – Z

 

คำแนะนำ : การเลือกเพชรสีขาว (ไร้สี)

            โดยปกติร้านจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณีจะมีการจัดร้านด้วยแสงไฟที่ทำให้อัญมณีเกิดการเล่นประกายแสงสีที่ดูสวยงามเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบกับแสงโดยปกติทั่วไป และการประเมินคุณภาพสีของเพชรไม่สามารถทำได้เลย เพราะมีแสงรบกวนรอบตัวมากเกินไป

            ในกรณีที่ไม่มีใบรับรองระดับคุณภาพเพชรจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และจัดระดับคุณภาพอัญมณี ผู้ซื้อก็ควรขอเอกสารรับรองระดับคุณภาพสีเพชรจากร้านค้าทุกครั้งที่ซื้อ โดยอาจให้ลงระดับสีในเอกสารกำกับสินค้าหรือใบเสร็จรับเงิน

            กรณีเพชรที่มีใบรับรองจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และจัดระดับคุณภาพอัญมณี จะมีราคาที่สูงกว่าเพชรที่ไม่มีใบรับรอง เพราะมีต้นทุนเพิ่มในส่วนที่ต้องออกใบรับรองจากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ

            เพชรที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 1 กะรัต ควรจะมีเอกสารใบรับรองการจัดระดับคุณภาพที่แท้จริง หรือป้องกันการลักลอบเปลี่ยนเพชรกรณีนำตัวเรือนไปซ่อมแซม

 

คุณค่าของระดับสีต่าง ๆ

            ระดับคุณภาพสีที่ดีที่สุด คือ ระดับ D  (100) เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสีเพชรที่เป็นที่สุด สุดยอด มีคุณค่าและมูลค่าที่เหมาะแก่การแก็บสะสมและสืบทอดให้ลูกหลาน

            ระดับคุณภาพสีที่ดีมาก ก็อยู่ระดับ E (99) และ F (98) เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสวมใส่ประดับเพชรที่มีคุณภาพสูงสะท้อนรสนิยมที่โดดเด่น

            ระดับคุณภาพสีที่ดี จะอยู่ที่ระดับ G (97) เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการสวมใส่เครื่องประดับเพชรคุณภาพสูงในชีวิตประจำวัน หรือซื้อเพื่อโอกาสพิเศษในชีวิต

            ระดับคุณภาพสีปานกลาง คือ ระดับ H(96), I (95) และ J (94) เหมาะสำหรับการสวมใส่ทั่วๆ ไป 

            ระดับคุณภาพสีธรรมดา คือ ระดับ K (93),L (92) และ M (91) เหมาะสำหรับการสวมใส่ที่เน้นสไตล์ที่ความเป็นเพชรโดยไม่ยึดติดกับคุณภาพสี

 

ข้อควรระวัง : เพชรที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ

เพชรสีขาว

            กรณีพบเพชรสีขาว แต่มีราคาต่ำกว่าปกติจะต้องพิจารณาว่าอาจจะเป็นเพชรที่ผ่านการเพิ่มคุณภาพสีแบบ HPHT (High Pressure High Temperature) โดยนำเพชรสีขาวติดเหลืองหรือขาวอมน้ำตาลมาผ่านกระบวนการจนกลายเป็นสีขาวระดับ G (97) สามารถตรวจวิเคราะห์ได้จากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อัญมณี (Gem Laboratory)

 เพชรสีแฟนซี

            กรณีที่พบเพชรสีที่มีสีสันเข้มสดสวย เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพชรที่ผ่านการเพิ่มคุณภาพด้วยการอาบรังสี (Irradiation) ซึ่งราคาจะต่ำกว่าเพชรสีตามธรรมชาติ

Visitors: 139,924