5 เคล็ดลับสำหรับดูแลเครื่องประดับ

 

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในการใส่เครื่องประดับ เรามี 5 เคล็ดลับดีๆ

ในการดูแลรักษาเครื่องประดับมาแนะนำกันในบทความนี้ค่ะ

  1.  ระหว่างเล่นกีฬาหรือทำงานบ้านควรหลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับ โดยเฉพาะแหวน มีเหตุการหนึ่งเกิดขึ้นกับตัวเอง วันนั้นไปตีเทนนิส แล้วใส่แหวนไปด้วย เวลาจับไม้ก็รู้สึกไม่สะดวก และก็กลัวแหวนจะเบี้ยวเสียทรง ก็เลยถอดแหวนออก ใส่ไว้ในกางเกงกีฬา พอเลิกเล่นก็มองหาแหวน จำได้ว่าใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง ปรากฎว่าแหวนหายไปแล้ว คาดว่ากระเด็นออกตอนที่เล่นกีฬาจนเพลินนั่นแหละ รู้สึกเสียดายมากจนถึงทุกวันนี้ แล้วยังมีเพื่อนเล่าให้ฟังว่า เขาไปให้อาหารปลาที่บึง ที่นิ้วใส่แหวนหยกราคาวงละหลักแสนบาท วันนั้นก็มีลางสังหรณ์แล้ว เพราะแหวนหลวมเล็กน้อยเนื่องจากเป็นเวลาเช้า ประกอบกันอากาศเย็น ขนาดนิ้วจะหดลงเล็กน้อย มือจับอาหารปลาแล้วโปรยให้ปลาโดยการขว้างออกไกลๆ (ใจบุญเพราะเห็นว่าปลาที่ว่ายอยู่ไกลๆ จะไม่ได้อาหาร) โยนออกไปสุดแรงเกิด แหวนหยกที่ใส่ตกลงไปในน้ำ หมดสิทธิ์หาเลยค่ะ
  2. ควรใช้เครื่องสำอางและน้ำหอมก่อนสวมใส่เครื่องประดับ โดยเฉพาะต่างหู สร้อยคอและเข็มกลัด  เพราะเครื่องสำอางไม่ว่าจะเป็นครีมรองพื้น แป้งฝุ่น บรัชออน ทั้งหมดที่ว่ามานี้จะติดไปบนผิวของเครื่องประดับเพชรทำให้เพชรหมองลงได้ และน้ำหอมบางชนิดก็อาจทำปฏิกิริยากับตัวเรือน ทำให้ตัวเรือน โดยเฉพาะตัวเรือนทองเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือเป็นดวงสีดำๆ ขึ้นได้ค่ะ ทางที่ถูกต้อง ควรแต่งหน้า และประพรมน้ำหอมให้เสร็จก่อน จึงค่อยใส่เครื่องประดับเพชรค่ะ
  3. สังเกต ตรวจดูหนามเตยที่เกาะเพชร ตะขอล็อคและข้อต่อของตัวเรือนเครื่องประดับเพชรทุกครั้งที่สวมใส่ บางครั้งเราใส่เครื่องประดับแล้วกระแทกกับอะไรแรงๆ ก็ขอให้สังเกตสักเล็กน้อยว่าหนามเตย หรือตะขอ ข้อต่อต่างๆ ชำรุดหรือไม่ เพราะตัวเรือนเครื่องประดับเพชรส่วนมากทำจากทอง หรือทองขาว ซึ่งมีความยืดหยุ่นอาจง้างออก หรือหักงอได้ หาก เราเลือกใช้เพชรที่มีขนาด 50 สตางค์ขึ้นไป เราควรเลือกตัวเรือนจับเพชรที่มีหนามเตย 6 หนาม เพราะหากกระแทกกับของแข็ง ตัวเรือน 6 หนามเตยจะสามารถรักษาขอบเพชรไว้ได้ แม้ว่าเพชรจะเป็นสารที่มีค่าความแข็งมาก ที่สุดในโลก แต่ตามธรรมชาติของเพชรจะมีรอยแยกแนวเรียบ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่หากมีอะไรมากระทบแรง ๆ ก็อาจทำให้เพชรบิ่นหรือแตกเป็นรอยร้าวลั่นไปถึงก้นเพชรได้ เพชร เป็นแร่ที่มีค่าความแข็งสูง แต่มีค่าความเหนียวต่ำ ค่าความแข็งหมายความว่า เพชรสามารถขูดขีดกระจกให้เป็นรอยได้ แต่กระจกไม่สามารถขูดขีดเพชรให้เป็นรอยได้ แต่ค่าความเหนียวเป็นคนละเรื่องกันค่ะ เพชรมีจะอ่อนแออยู่ 3 จุด นั่นคือ A มุมจากเทเบิ้ลถึงเหลี่ยมคราวน์ B คือขอบเพชร จุดสุดท้ายคือที่ C ก้นเพชร หากเราเอาฆ้อนทุบเพชรที่ 3 จุดอ่อนแอนี้เพชรจะแตกออกได้ค่ะ

 

  1. ไม่ควรสวมหรือถอดเครื่องประดับโดยการจับที่ตัวเพชร แนะนำให้จับที่ตัวเรือน เพราะเหงื่อและฝุ่นบนนิ้วของเราจะทำให้เพชรดูหมองลงได้ เครื่องประดับเพชรที่ใช้งานอยู่ประจำนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแล โดยการล้างทำความสะอาดตามสมควร เคยสังเกตไหมคะว่า เพชรที่เราเพิ่งซื้อมานั้น ช่างงดงามแวววาวจับตาเหลือเกิน แต่พอใส่ไปได้ไม่เท่าไหร่ ทำไมความเงาที่เคยมีกลับดูหมองหมดราศี  หากเรามองดูให้ดี เพชรที่สวมใส่มาแล้วมักจะมีคราบฝุ่น คราบแป้งติดอยู่ คราบที่ว่ามาทั้งหมดมีขนาดใหญ่กว่า เพชรคุณภาพ VVS1-2 เสียอีก หากเราไม่ดูแลใส่ใจนำไปล้างทำความสะอาดบ้างก็ไม่ต่างจากการซื้อเพชรคุณภาพ ที่ไม่สะอาด การทำความสะอาดเพชรไม่ใช่เรื่องยาก แนะนำให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดเพชรอย่างอ่อนๆ สังเกตได้จากน้ำยาที่ไม่มีกลิ่นฉุนจนแสบจมูก (ปราศจากแอมโมเนีย) หากว่าหาไม่ได้สามารถใช้น้ำยาล้างจานล้างแทนได้ค่ะ วิธี ล้างคือให้เครื่องประดับผ่านน้ำเปล่าก่อน น้ำจากก๊อกน้ำบ้านเรานี่แหละค่ะ ไม่ถึงกับต้องการเป็นน้ำต้ม น้ำอุ่นหรือน้ำกลั่นนะคะ จากนั้นก็หยดน้ำยาลงไป หาแปรงสีฟันที่ไม่ใช้แล้ว แปรงลงไปเบาๆ (การแปรงแรงๆ อาจทำให้หนามเตยจับเพชรหลุดได้ค่ะ) เน้นแปรงที่ก้นของเพชร หากสังเกตดีๆ เครี่องประดับเพชรมักจะเปิดรูที่ก้นเพชรไว้ เพื่อให้เราได้ใช้แปรงปัดทำความสะอาด เพราะส่วนมากคราบไคลคราบแป้งมักจะติดที่ก้นเพชรทำให้เพชรไม่กระจายแสงสวยงาม เท่าที่ควรจะเป็นค่ะ จากนั้นก็ล้างน้ำยาออกด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง หากต้องการให้เพชรดูประกายแวววาวเหมือนใหม่ก็ใช้เครื่องเป่าผม ลมเป่าจะไล่น้ำออกไป ทำให้เพชรแวววาวน่าชมเหมือนซื้อมาจากร้านเลยค่ะ อีกอย่างที่ฝากมา อันนี้เป็นวิธีการแบบเดิมๆ ที่นิยมใช้ทำความสะอาดเครื่องเพชรกัน โดยการนำเครื่องประดับไปต้มในน้ำ ตั้งไฟ หวังให้คราบเหงื่อไคลหลุดออก อันนี้ที่จริงก็ได้ผล เพชรที่ล้างแบบต้มนี้จะให้ประกายแวววาวดี แต่หากเราลืมเปิดไฟต้มไว้ ทองอาจจะไหม้เป็นสีดำ ส่วนเพชรอาจจะเป็นฝ้า และที่สำคัญหากมีพลอยเนื้ออ่อนด้วย พลอยอาจจะแตกร้าวได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการนำเครื่องเพชรไปต้มกับน้ำค่ะ ใช้วิธีที่ปลอดภัยล้างด้วยน้ำยาดีกว่า ทั้งประหยัดเวลา และขจัดความเสี่ยงไปได้เป็นอย่างดี
  2. เครื่องประดับเพชรพลอย ไม่ควรเก็บกองไว้รวมกัน  เพราะเครื่องประดับพลอยที่มีค่าความแข็งน้อยกว่าเพชรจะถูกเพชรข่วนเป็นรอย ได้ รวมถึงตัวเรือนที่เป็นทองหรือทองขาว หรือแม้แต่แพลตินั่มก็ล้วนแต่มีค่าความแข็งน้อยกว่าเพชร หากเก็บหลายๆ ชิ้นรวมๆ กัน เพชรอาจจะข่วนตัวเรือนให้เป็นรอยขนแมวได้ แม้ตัวเพชรก็เช่นกัน สามารถขีดข่วนซึ่งกันและกันให้เป็นรอยได้ ดังคำโบราณเขาว่า เพชรตัดด้วยเพชร ค่ะ  

ข้อแนะนำ ควรเก็บโดยการห่อแยกชิ้นในถุงผ้า หรือถุงพลาสติกใส หรืออาจเก็บในกล่องเครื่องประดับที่มีการแยกตามประเภทของเครื่องประดับนั้นๆ มีประสบการณ์อยากแบ่งปันอีกเรื่อง มีเพื่อนมาเล่าให้ฟังว่า เธอถอดเครื่องประดับแล้วนำกระดาษทิชชู่มาห่อไว้ เพื่อป้องกันการกระทบกระแทกกันเป็นรอย วางไว้ที่หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง จาก นั้นก็ลืมไปหลายวัน จนเห็นว่าโต๊ะเครื่องแป้งรกต้องจัดการเก็บกวาด เธอจึงปัดกวาดเอาเพชรที่ห่อกระดาษทิชชู่ไว้ลงถังขยะไปด้วย กว่าจะนึกได้รถเก็บขยะก็มาเก็บขยะที่บ้านไปแล้วค่ะ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือนำเครื่องประดับเข้ารับการตรวจสภาพปีละครั้ง  ตัวเรือนบางชนิดเช่นตัวเรือนที่เป็นต่างหูตุ้งติ้ง หรือสร้อยคอเพชรที่ดิ้นได้ หรือแหวนเพชรที่ฝังเพชรแบบจิกไข่ปลา ควรได้รับการตรวจสภาพจากผู้เชี่ยวชาญ  ร้านค้าที่มีมาตรฐานมักจะให้บริการตรวจสภาพฟรี และซ่อมแซมแก้ไขให้โดยอาจมีค่าบริการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เครื่องประดับเพชรมีราคาสูง โดยส่วนมากแล้วถูกเก็บไว้ ไม่ได้นำออกมาใส่ให้ผู้คนได้ชื่นชมบ่อยๆ เพราะเกรงว่าจะเป็นรอย  จะหมองเก่า   มีข่าวดีขอเรียนให้ท่านทราบว่า ร้านเครื่องประดับแทบจะทุกแห่งมีบริการ “ขัดเงา ชุบใหม่” ให้ท่านได้ เครื่องประดับเพชรจะดูเหมือนใหม่เหมือนกับเพิ่งซื้อมาจากร้าน โดยการขัดเงาที่ดีนั้น จะไม่ทำให้น้ำหนักตัวเรือนลดลง หรือไม่ทำให้ตัวเรือนบางลงแต่ประการใด

Visitors: 139,882